19 July 2023

Articles

BIM Model เป็น Model 3D จำลองในโลกดิจิทัล มีข้อมูล Database จำนวนมาก

ผู้ที่อยู่ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะในสายงานออกแบบและก่อสร้าง น่าจะพอได้ยินเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่มีชื่อเรียกว่า BIM ซึ่งย่อมาจาก Building Information Modeling หลายบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ได้นำไปใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานออกแบบรายละเอียดเพื่อ
คอนเฟิร์มแนวทางการก่อสร้าง และใช้ในการประมาณปริมาณวัสดุ และราคาโครงการได้อย่างถูกต้องแม่นยำ การลดความขัดแย้งในขั้นตอนการก่อสร้าง จนกล่าวได้ว่าเป็นเทคโนโลยีปฏิวัติวงการก่อสร้างเลยทีเดียว

 

มาถึงตรงนี้ ต้องอธิบายก่อนว่า BIM Model คืออะไร อาจอธิบายได้ง่ายๆ คือ Model 3D ที่มีข้อมูลประกอบเป็น Database จำนวนมาก ที่ทำให้ข้อมูลทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นแบบก่อสร้าง ฐานข้อมูลราคา ปริมาณวัสดุต่างๆ มาอยู่เป็น ‘ฐานข้อมูลชุดเดียวกัน’ ได้ หากปรับเปลี่ยนจุดใดจุดหนึ่ง จะทำให้เกิดผลกระทบกับข้อมูลอื่นๆ ทั้งหมด เมื่อโครงการมีการพัฒนาจนจบสิ้น กลายมาเป็นอาคารจริงๆ โครงการที่ผู้รับเหมาก่อสร้างใช้เทคโนโลยี BIM ก็อาจส่งมอบ Model ที่มีข้อมูลเสมือนอาคารจริงนี้ให้กับเจ้าของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์

 

และเมื่อเรามีอาคารจริงในโลกภายนอก VS อาคารที่เป็น Model 3D จำลองในโลกดิจิทัล จึงเป็นที่มาของเทคโนโลยีก้าวต่อไปอีกขั้นหนึ่ง คือ “Digital Twin”

แต่เดิมการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ (Property Management) มีปัญหาที่สร้างความเสียหายมากที่สุดเรื่องหนึ่ง คือ ปัญหา As-Built Drawings (แบบที่เขียนขึ้นหลังจากการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว) ผู้ที่ผลิต “As-Built” คือ ผู้รับเหมาก่อสร้าง และ As-Built นี้ ถือเป็นเอกสารสำคัญที่ต้องมีการส่งมอบคู่กับตัวอาคารจริงที่สร้างแล้วเสร็จ เป็นเอกสารสำคัญที่ใช้เป็นหลักฐานยืนยันในการตรวจสอบอาคาร ด้านความปลอดภัย ตรวจสอบว่า ผู้รับเหมาสร้างตามที่ปรากฎในแบบจริงหรือไม่? 

 

หากเราสามารถนำ BIM Model มาใช้อย่างถูกต้องจะสามารถลดปัญหาของ As-Built Document ได้อย่างไร?

 

  • ไม่มี As-Built Document 

หากเวลาผ่านไป 5-10-15 ปี เอกสารก็อาจสูญหายไปได้ หากนำเทคโนโลยี BIM Model มาใช้ ข้อมูลที่มีจะเปลี่ยนไปถูกจัดเก็บไว้ใน Cloud และสามารถค้นหาได้ตลอดเวลา ต่อให้เวลาผ่านไปกี่ปี 

  • As-Built Document ไม่ตรงกับความเป็นจริง

หากอาคารมีการต่อเติมและอาคารไม่มีระบบจัดการที่ดีก็อาจทำให้แบบไม่ตรงกับความเป็นจริงได้ เนื่องจาก BIM Model เป็น ‘ฐานข้อมูลชุดเดียวกัน’ หากปรับเปลี่ยนจุดใดจุดหนึ่ง จะทำให้เกิดผลกระทบกับข้อมูลอื่นๆทั้งหมด ทำให้เกิดความรวดเร็วในการอัพเดทข้อมูล ไม่ต้องเสียเวลาไปอัพเดทข้อมูลทีละส่วน และแบบทั้งหมดจะถูกต้องตรงกัน

ความเสียหายอันเกิดจาก As-Built Document ไม่ตรงตามความเป็นจริง 

หากในกรณีที่ อาคารไม่มี As-Built Document หรือแบบไม่ตรงอย่างมาก จะส่งผลเสียหายอะไรบ้าง?  

 

(1) คนตาย-บาดเจ็บ : อาจไม่ได้เป็นเหตุโดยตรงขนาดนั้น แต่เป็นเหตุทางอ้อม 

กรณีที่เกิดขึ้นเป็นประจำและซ้ำซากที่สุด คือ กรณีอาคารเกิดเพลิงไหม้ และ เจ้าหน้าที่ผจญเพลิงถามหาแบบอาคาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ As-Built Drawings แต่ ‘ไม่มี’ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงก็ต้องเดากันเอง จนไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้ติดเพิลงไหม้ได้ทันการณ์ เป็นต้น หรือใน กรณีเกิดเหตุก่อการร้ายในอาคารที่มีความซับซ้อน เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารต้องการแบบที่ ถูกต้องของอาคาร ปรากฎว่าไม่มี เจ้าหน้าที่ก็ต้องเสี่ยงกันเอง หรือไม่ก็อาศัยการเดาจากคนที่คุ้นเคยกับอาคารช่วยนำทาง เป็นต้น 

 

(2) ความเสียหายทางการเงิน : ในประเด็นนี้จะขอสงวนไว้ในแง่ของค่าใช้จ่ายโดยตรง หรือ เวลาที่ต้องเสียไป โดยไม่มีความเสียหายทางชีวิตหรือร่างกาย ในกรณีเหตุการณ์เพลิงไหม้ หากไม่มีคนอยู่ภายใน แต่เป็นความเสียหาย เช่น โรงงานที่มีสารเคมีเป็นเชื้อเพลิง และคนดับเพลิงต้องการที่จะปิดวาล์วที่ปล่อยสารเคมีออกมา ซึ่งการที่มีแบบไม่ตรง หรือไม่มีแบบ คำถามสำคัญ คือ วาล์วอยู่ไหน

หรือกรณีการทำงานทั่วไป เช่น งานจัดอีเวนต์มีการศึกษาสถานที่มาเป็นที่เรียบร้อย ออกแบบเวทีต่างๆ มา แต่พอมาถึงหน้างาน รูปร่างตำแหน่งของห้องและประตู ไม่ตรงกับเวทีที่ออกแบบมา กลายเป็นว่าต้องออกแบบ-คิดงานกันใหม่ 

แม้แต่ การซ่อมอาคารหรือการต่อเติมอาคาร หากข้อมูลไม่ครบและต้องดำเนินการโดยที่ไม่มีแบบเลย บางกรณีอาจร้ายแรงถึงขนาดต้อง “สำรวจ” และ “ทำแบบกันใหม่” เหมือนโบราณสถานที่ต้องส่องกล้อง วัดระยะกัน เพื่อให้ออกมาเป็นแบบก่อสร้างกันเลยทีเดียว ก็สำรวจสถานที่ใหม่เหล่านี้ ก็จะกลายเป็นค่าใช้จ่ายที่งอกขึ้นมาใหม่

 

(3) ความขัดแย้ง : การทำงานใดๆ ในโลก ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาด้วยเหตุหลายๆ ประการ แต่การแก้ปัญหาความขัดแย้งต้องเริ่มต้นที่ “ข้อเท็จจริงอันเป็นที่ยุติ” ไม่มีฝ่ายไหนโต้แย้งเรื่องนี้แล้ว ในกรณีที่ไม่มีแบบ อาจเป็นต้นเหตุที่นำพาไปสู่ความขัดแย้ง เมื่อฝ่ายหนึ่งบอกว่าได้ แต่ฝ่ายหนึ่งบอกว่าไม่ได้ ก็ต้องมาท้าทายกัน พอฝ่ายหนึ่งแพ้ก็ไม่ใช่ว่าอีกฝ่ายจะพอใจ เพราะไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องมาชี้ขาด เช่นเดียวกับกรณีข้อพิพาททางกฎหมาย เอกสารที่กำกวมและไม่ถูกต้อง จะถูกโยนทิ้งไป เป็นหลักฐานที่ใช้ไม่ได้ กลายเป็นช่องว่างให้อีกฝ่ายเรียกร้องจากเราในทันที 

 

(4) คอร์รัปชั่น : การใดๆ ในโลกที่ ไม่ชัดเจน กำกวม หรือไม่มีหลักฐาน บันทึกปรากฎ คือ ฐานรากแห่งการฉ้อโกง เช่นเดียวกับสิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้ฝ้า ใต้ดิน หลังผนัง หากไม่มีการบันทึกว่า “สิ่งที่ควรจะเป็นคืออะไร” เมื่อมาพบว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นจริง” ก็จะสร้างปัญหา เนื่องจากไม่รู้ว่าที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร เพราะไม่มีสิ่งใดอ้างอิง เช่น สเปคของท่อน้ำแตกที่อยู่ใต้ฝ้าไม่ควรเป็นเช่นนี้ แล้วในความเป็นจริงควรเป็นอย่างไร? ก็สรุปไม่ได้ เพราะไม่มีข้อมูลอ้างอิง

 

ถึงตรงนี้ อาจจะพอเห็นแล้วว่า หากมีการนำเทคโนโลยี BIM มาใช้ เพื่อลดโอกาสเกิดการที่ไม่มี As-Built Document หรือ มีไม่ตรงกับความเป็นจริงนั้น จะลดความเสียหายได้มากเพียงใด 

Share this article :

We use cookies to ensure that we give you the best experience on our website. If you continue to use this site we will assume that you are happy with it. You can learn more details in the Privacy Policy.