19 กรกฎาคม 2023

บทความ

BIM Model เป็น Model 3D จำลองในโลกดิจิทัล มีข้อมูล Database จำนวนมาก

ผู้ที่อยู่ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะในสายงานออกแบบและก่อสร้าง น่าจะพอได้ยินเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่มีชื่อเรียกว่า BIM ซึ่งย่อมาจาก Building Information Modeling หลายบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ได้นำไปใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานออกแบบรายละเอียดเพื่อ
คอนเฟิร์มแนวทางการก่อสร้าง และใช้ในการประมาณปริมาณวัสดุ และราคาโครงการได้อย่างถูกต้องแม่นยำ การลดความขัดแย้งในขั้นตอนการก่อสร้าง จนกล่าวได้ว่าเป็นเทคโนโลยีปฏิวัติวงการก่อสร้างเลยทีเดียว

 

มาถึงตรงนี้ ต้องอธิบายก่อนว่า BIM Model คืออะไร อาจอธิบายได้ง่ายๆ คือ Model 3D ที่มีข้อมูลประกอบเป็น Database จำนวนมาก ที่ทำให้ข้อมูลทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นแบบก่อสร้าง ฐานข้อมูลราคา ปริมาณวัสดุต่างๆ มาอยู่เป็น ‘ฐานข้อมูลชุดเดียวกัน’ ได้ หากปรับเปลี่ยนจุดใดจุดหนึ่ง จะทำให้เกิดผลกระทบกับข้อมูลอื่นๆ ทั้งหมด เมื่อโครงการมีการพัฒนาจนจบสิ้น กลายมาเป็นอาคารจริงๆ โครงการที่ผู้รับเหมาก่อสร้างใช้เทคโนโลยี BIM ก็อาจส่งมอบ Model ที่มีข้อมูลเสมือนอาคารจริงนี้ให้กับเจ้าของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์

 

และเมื่อเรามีอาคารจริงในโลกภายนอก VS อาคารที่เป็น Model 3D จำลองในโลกดิจิทัล จึงเป็นที่มาของเทคโนโลยีก้าวต่อไปอีกขั้นหนึ่ง คือ “Digital Twin”

แต่เดิมการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ (Property Management) มีปัญหาที่สร้างความเสียหายมากที่สุดเรื่องหนึ่ง คือ ปัญหา As-Built Drawings (แบบที่เขียนขึ้นหลังจากการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว) ผู้ที่ผลิต “As-Built” คือ ผู้รับเหมาก่อสร้าง และ As-Built นี้ ถือเป็นเอกสารสำคัญที่ต้องมีการส่งมอบคู่กับตัวอาคารจริงที่สร้างแล้วเสร็จ เป็นเอกสารสำคัญที่ใช้เป็นหลักฐานยืนยันในการตรวจสอบอาคาร ด้านความปลอดภัย ตรวจสอบว่า ผู้รับเหมาสร้างตามที่ปรากฎในแบบจริงหรือไม่? 

 

หากเราสามารถนำ BIM Model มาใช้อย่างถูกต้องจะสามารถลดปัญหาของ As-Built Document ได้อย่างไร?

 

  • ไม่มี As-Built Document 

หากเวลาผ่านไป 5-10-15 ปี เอกสารก็อาจสูญหายไปได้ หากนำเทคโนโลยี BIM Model มาใช้ ข้อมูลที่มีจะเปลี่ยนไปถูกจัดเก็บไว้ใน Cloud และสามารถค้นหาได้ตลอดเวลา ต่อให้เวลาผ่านไปกี่ปี 

  • As-Built Document ไม่ตรงกับความเป็นจริง

หากอาคารมีการต่อเติมและอาคารไม่มีระบบจัดการที่ดีก็อาจทำให้แบบไม่ตรงกับความเป็นจริงได้ เนื่องจาก BIM Model เป็น ‘ฐานข้อมูลชุดเดียวกัน’ หากปรับเปลี่ยนจุดใดจุดหนึ่ง จะทำให้เกิดผลกระทบกับข้อมูลอื่นๆทั้งหมด ทำให้เกิดความรวดเร็วในการอัพเดทข้อมูล ไม่ต้องเสียเวลาไปอัพเดทข้อมูลทีละส่วน และแบบทั้งหมดจะถูกต้องตรงกัน

ความเสียหายอันเกิดจาก As-Built Document ไม่ตรงตามความเป็นจริง 

หากในกรณีที่ อาคารไม่มี As-Built Document หรือแบบไม่ตรงอย่างมาก จะส่งผลเสียหายอะไรบ้าง?  

 

(1) คนตาย-บาดเจ็บ : อาจไม่ได้เป็นเหตุโดยตรงขนาดนั้น แต่เป็นเหตุทางอ้อม 

กรณีที่เกิดขึ้นเป็นประจำและซ้ำซากที่สุด คือ กรณีอาคารเกิดเพลิงไหม้ และ เจ้าหน้าที่ผจญเพลิงถามหาแบบอาคาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ As-Built Drawings แต่ ‘ไม่มี’ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงก็ต้องเดากันเอง จนไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้ติดเพิลงไหม้ได้ทันการณ์ เป็นต้น หรือใน กรณีเกิดเหตุก่อการร้ายในอาคารที่มีความซับซ้อน เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารต้องการแบบที่ ถูกต้องของอาคาร ปรากฎว่าไม่มี เจ้าหน้าที่ก็ต้องเสี่ยงกันเอง หรือไม่ก็อาศัยการเดาจากคนที่คุ้นเคยกับอาคารช่วยนำทาง เป็นต้น 

 

(2) ความเสียหายทางการเงิน : ในประเด็นนี้จะขอสงวนไว้ในแง่ของค่าใช้จ่ายโดยตรง หรือ เวลาที่ต้องเสียไป โดยไม่มีความเสียหายทางชีวิตหรือร่างกาย ในกรณีเหตุการณ์เพลิงไหม้ หากไม่มีคนอยู่ภายใน แต่เป็นความเสียหาย เช่น โรงงานที่มีสารเคมีเป็นเชื้อเพลิง และคนดับเพลิงต้องการที่จะปิดวาล์วที่ปล่อยสารเคมีออกมา ซึ่งการที่มีแบบไม่ตรง หรือไม่มีแบบ คำถามสำคัญ คือ วาล์วอยู่ไหน

หรือกรณีการทำงานทั่วไป เช่น งานจัดอีเวนต์มีการศึกษาสถานที่มาเป็นที่เรียบร้อย ออกแบบเวทีต่างๆ มา แต่พอมาถึงหน้างาน รูปร่างตำแหน่งของห้องและประตู ไม่ตรงกับเวทีที่ออกแบบมา กลายเป็นว่าต้องออกแบบ-คิดงานกันใหม่ 

แม้แต่ การซ่อมอาคารหรือการต่อเติมอาคาร หากข้อมูลไม่ครบและต้องดำเนินการโดยที่ไม่มีแบบเลย บางกรณีอาจร้ายแรงถึงขนาดต้อง “สำรวจ” และ “ทำแบบกันใหม่” เหมือนโบราณสถานที่ต้องส่องกล้อง วัดระยะกัน เพื่อให้ออกมาเป็นแบบก่อสร้างกันเลยทีเดียว ก็สำรวจสถานที่ใหม่เหล่านี้ ก็จะกลายเป็นค่าใช้จ่ายที่งอกขึ้นมาใหม่

 

(3) ความขัดแย้ง : การทำงานใดๆ ในโลก ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาด้วยเหตุหลายๆ ประการ แต่การแก้ปัญหาความขัดแย้งต้องเริ่มต้นที่ “ข้อเท็จจริงอันเป็นที่ยุติ” ไม่มีฝ่ายไหนโต้แย้งเรื่องนี้แล้ว ในกรณีที่ไม่มีแบบ อาจเป็นต้นเหตุที่นำพาไปสู่ความขัดแย้ง เมื่อฝ่ายหนึ่งบอกว่าได้ แต่ฝ่ายหนึ่งบอกว่าไม่ได้ ก็ต้องมาท้าทายกัน พอฝ่ายหนึ่งแพ้ก็ไม่ใช่ว่าอีกฝ่ายจะพอใจ เพราะไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องมาชี้ขาด เช่นเดียวกับกรณีข้อพิพาททางกฎหมาย เอกสารที่กำกวมและไม่ถูกต้อง จะถูกโยนทิ้งไป เป็นหลักฐานที่ใช้ไม่ได้ กลายเป็นช่องว่างให้อีกฝ่ายเรียกร้องจากเราในทันที 

 

(4) คอร์รัปชั่น : การใดๆ ในโลกที่ ไม่ชัดเจน กำกวม หรือไม่มีหลักฐาน บันทึกปรากฎ คือ ฐานรากแห่งการฉ้อโกง เช่นเดียวกับสิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้ฝ้า ใต้ดิน หลังผนัง หากไม่มีการบันทึกว่า “สิ่งที่ควรจะเป็นคืออะไร” เมื่อมาพบว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นจริง” ก็จะสร้างปัญหา เนื่องจากไม่รู้ว่าที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร เพราะไม่มีสิ่งใดอ้างอิง เช่น สเปคของท่อน้ำแตกที่อยู่ใต้ฝ้าไม่ควรเป็นเช่นนี้ แล้วในความเป็นจริงควรเป็นอย่างไร? ก็สรุปไม่ได้ เพราะไม่มีข้อมูลอ้างอิง

 

ถึงตรงนี้ อาจจะพอเห็นแล้วว่า หากมีการนำเทคโนโลยี BIM มาใช้ เพื่อลดโอกาสเกิดการที่ไม่มี As-Built Document หรือ มีไม่ตรงกับความเป็นจริงนั้น จะลดความเสียหายได้มากเพียงใด 

Share this article :

เว็บไซต์มีการเก็บคุกกี้ (Cookies) เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว